สัมภาษณ์มาสเตอร์ วิธาน นิยมวัน ตอนที่ 1

 

มาสเตอร์เป็นศิษย์เก่า รุ่นอะไรครับ

มาสเตอร์ก็เป็น ศิษย์เก่ารุ่นก้ามปู ก็คือ รุ่นที่จบปี 2506

 

มาสเตอร์หมายเลขประจำตัวอะไรครับ

18459

 

มาสเตอร์เป็นครูที่อัสสัมชัญมากี่ปีแล้วครับ

เป็นมาทั้งหมด ก็ 30 ปี นี่หมายถึงที่อัสสัมชัญ แต่ก่อนที่จะมาเป็นครูที่อัสสัมชัญ

 

ก่อนที่ มาสเตอร์เป็นครูที่อัสสัมชัญ มาสเตอร์เป็น อะไรมาก่อน

อ้าว.... มาสเตอร์ก็เป็น น.ร. ที่อัสสัมชัญ มา แล้วก็เป็นนักศึกษา พอจบมาแล้วก็ไปเป็น ครู ที่ ร.ร. สยามวิทยา แล้ว ตอนนั้น ก็เรียน เศรษฐศาสตร์ภาคค่ำ ที่ ธรรมศาสตร์ไปด้วย แล้วก็ ย้อนกลับมาเป็นครูที่ ร.ร. อัสสัมชัญ ตอนปี 2513

 

มาสเตอร์ช่วยเล่า ประวัติของ มาสเตอร์จากการที่เป็น น.ร. อัสสัมชัญ หน่อยครับ

มาสเตอร์เข้าเรียนอัสสัม. ครั้งแรก ตอน ป.1 เข้ามาได้ 3 วัน เค้าก็ไล่ลงไปอยู่ชั้นเตรียมพร้อม หรือ ที่ เรียกว่า ชั้นมูล เพราะ มาสเตอร์พื้นฐานไม่ค่อยดี เพราะ น.ร. ที่มาจาก ร.ร. ทั่วไป จะสู้ น.ร. ที่มาจากชั้นมูล ไม่ได้ ก็เรียนมาเรื่อย ๆ จนถึง ชั้น ม.ศ. 3 ซึ่งเป็นชั้นที่หวาดเสียวที่สุด

เพราะ ทาง ร.ร. จะคัด น.ร. ขึ้น ม.ศ. 4 เค้าจะคัดเอาไม่ต่ำกว่า 65%

 

ก็คล้ายๆ กับสมัยนี้สิครับ

อึม.... ปัจจุบันยังถือว่าคัดเข้ามามากกว่าแต่ก่อน แต่สมัยที่มาสเตอร์เรียนนั้นคัดออกค่อนข้างเยอะ คนที่อยู่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่คะแนนดี ๆ คนที่ค่อนข้างเป็นเด็กเรียนทั้งนั้น

 

แล้ว อย่าง มาสเตอร์เรียนเก่งมั้ยครับ

ตอนเรียน มาสเตอร์ก็บอกไม่ได้นะว่า เรียนเก่งหรือไม่เก่ง แต่ก็เอาตัวรอดได้ มาตลอด คือ บางปีก็ดี บางปีก็ไม่ได้ แต่โดยรวมแล้วจะอยู่กลาง ๆ เพราะว่า ทำกิจกรรมเยอะ

 

กิจกรรมที่มาสเตอร์ทำมีอะไรบ้างครับ

เริ่มแรกเลย ก็มีกิจกรรมคือ มีละคร ตอน ป. 4 ก็ต้องออกไปซ้อม ก็จะเสียการเรียนพอสมควร แล้วก็ต้องยังไปเล่นที่ต่าง ๆ ให้ ร.ร. ด้วย มีผู้ปกครองมาดู ก็ถือว่า เป็นอะไรที่สนุกดี

แล้ว ต่อมา ม.2 มาสเตอร์ก็เริ่มมาจัดรายการเพลงตามสถานีวิทยุ สมัยก่อนจะมีให้ น.ร.ไปเช่าเวลาจากทางสถานี ก็เหมือนเดี๋ยวนี้ คือมีการขอเพลง ก็เป็นพวกเพลงป๊อบในสมัยก่อน ๆ ในครึ่งช.ม. นี้ ก็จัดได้แค่ 3 เพลง นอกนั้นก็จะเป็นชื่อคนขอเพลง ขอให้ใคร ก็สนุกไปอีกอย่าง น.ร. ก็มีโอกาสแสดงออก

พอขึ้นมา ม. 3 ครู เห็นว่า เคยจัดรายการ กล้าแสดงออก ก็เลยจับมาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ สมัยก่อนครูจะจัดเรื่องเกี่ยวกับการเชียร์ เรื่องเชียร์นี่ ครูจะเป็นผู้จัดการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด ลงโค้ดแปรอักษรต่าง ๆ

 

แล้วครูที่คอยดูแล เรื่องการเชียร์แปรอักษรคือใคร

สมัยแรก ก็คือ ม.เฉิด สุดารา นั่นคือเป็นช่วงแรกสุด

แล้วพอมาสมัยที่ มาสเตอร์เป็น น.ร.อยู่ ก็จะมี ครูสองท่านคือ ม. ธรรมชัย(ถึงแก่กรรม) และ ม. ไพโรจน์ รัศมีมารีย์ หรือ ที่เรียกว่า มาสเตอร์เชน เพราะว่าสมัยที่ มาสเตอร์เป็น น.ร. ตอนนั้น มี หนังเรื่อง "เชน" พระเอกชื่อ “เชน” คนนี้มันจะยิงปืนด้วยมือซ้าย แล้ว ม.ไพโรจน์ แกตีเด็กก็จะตีด้วยมือซ้าย น.ร. ก็เลยเรียกว่า มาสเตอร์เชน มาสเตอร์ทั้ง 2 คนนี้ ก็เป็น มาสเตอร์ที่คอยดูแลเรื่องแปรอักษร สมัยก่อน จะไม่มีการเขียนภาพ จะมีก็แค่เขียนเป็นตัวอักษรเพียงอย่างเดียว

พอขึ้น ม.4 ตอนนั้นก็มี ฟุตบอลจตุรมิตร ครั้งแรก ที่ 4 โรงเรียนร่วมมือกันจัดขึ้นมา มาสเตอร์ก็ถูกเลือกให้มาเป็นประธานเชียร์ ถูกเลือกจากครู เพราะเมื่อก่อน ไม่มีสภา น.ร. เรื่องพวกนี้ครูก็จะเป็นคนเลือกแทน เพราะมาสเตอร์เป็นเชียร์ลีดเดอร์มาก่อนด้วย แต่สมัยนั้นครูก็ยังคอยกำกับอยู่เยอะ เราก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง

 

ก็จะต่างกับสมัยนี้สิครับ

ก็เพราะว่าช่วงนั้นเป็น รุ่นแรก ครูก็ต้องคอยกำกับ แต่ พอเราได้ไปประชุม เรื่องจตุรมิตร กับอีก 3 โรงเรียน เราเห็นว่า อย่าง ร.ร.สวนกุหลาบนั้น ฝ่ายเชียร์ น.ร.เขาจะจัดการเองหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น เชียร์ ลีดเดอร์ การเขียนโค้ดแปรอักษร แล้วเขาจะมีระบบการบริหารของเขา ตอนนั้นก็คิดว่า ในเมื่อ โรงเรียนอื่น ใช้ น.ร. บริหารได้ โรงเรียนเราก็ต้องทำได้บ้าง ก็เลยเริ่มบริหารกันเอง

เริ่มแรก การแปรอักษรก็จะมีแต่อักษรอย่างเดียว เลยเริ่มที่จะแปรเป็นภาพ ภาพแรก ๆ ที่แปร ก็จะเป็น การ์ตูนดัง ๆ เช่น ป๊อปอาย หรือแม้กระทั่งรูปในหลวง แต่ยังเป็นโค้ค 1:1 ก็ยังยากอยู่ นี่ก็เป็นจุดเริ่มแรก ของการเชียร์และแปรอักษร และ มาสเตอร์เป็นประธานเชียร์คนแรก ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน

 

ครูที่ มาสเตอร์ประทับใจ มีใครบ้าง

ที่มาสเตอร์ประทับใจ ก็จะมี มาสเตอร์ยาย หรือ มาสเตอร์ธรรมชัย กับ มาสเตอร์เชน หรือ มาสเตอร์ไพโรจน์ ประทับใจมาก เพราะว่า เอ่อ..... ตอนนั้น มีการฉลอง 75 ปี ครูกับ น.ร. ก็นอนอยู่ด้วยกันที่โรงเรียนจะช่วยกันจัดแต่งห้องตลอดเลย

แล้วอย่างตอนที่ทำเชียร์ มาสเตอร์ทั้งสองคนนี้ก็ให้ความอบอุ่น ดูแลเอาใจใส่ น.ร. คือจะมาทำงานกับ น.ร. ตลอด พอดึก ๆ 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม มาสเตอร์เค้าก็จะซื้อก๋วยเตี๋ยวมาเลี้ยงเรา พอเสร็จงานสักเที่ยงคืน มาสเตอร์ก็ขับรถไปส่งที่บ้าน ทำอย่างนี้จนกระทั่งงานเสร็จ

แต่ที่ประทับใจมาก คือ ตอนมาสเตอร์เรียนกับ มาสเตอร์เชน ตอนนั้นจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ มาสเอตร์แกก็จะทุ่มเทให้พวกเรามาก ทั้งตี ทั้งกวดขันทุกอย่าง ถ้าไม่ผ่านช่วง ม.4 มา ก็ค่อนข้างจะเรียนลำบาก เพราะฉะนั้นครูจะสำคัญมาก ๆ ตอน ม.4 ก็จะมีคนตกชั้นมาก ประมาณห้องละ 10 คน

 

ตอน ม.4 ขึ้น ม.5 ยังมีการคัดอยู่อีกเหรอ ครับ

มันไม่ใช่การคัด แต่คือว่า ถ้า น.ร. คนไหนสอบตกก็จะโดนซ้ำชั้น ดังนั้นเราก็จะมีเพื่อนเยอะ มีเพื่อนทั้งจากรุ่นก่อน ที่ซ้ำชั้น รุ่นเราที่ไปอยู่รุ่นอื่นและก็ ยังมี พวกที่พาส (pass) ชั้นด้วย ในสมัยก่อน เช่น ถ้า ม.4 เรียนเก่งมาก ๆ ก็ จะพาสไปอยู่ ม.6 ได้เลย ดังนั้นเพื่อนก็จะมีเยอะมาก สมัยก่อนนี่จะดี คือมีการคละห้อง นักเรียนอัสสัม. ก็จะรู้จักกันหมด ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ที่ให้ไปตามเพื่อนห้องอื่น บางทียังไม่รู้จักกันเลย

 

มาสเตอร์มีวีรกรรม อะไรในสมัยอยู่อัสสัม. ไหมครับ

ถ้าพูดถึง วีรกรรม มันก็จะเป็นการทำอะไรที่เสี่ยงๆ ดังนั้นพวกที่สร้างวีรกรรม ส่วนใหญ่ ก็โดนออกไปจนหมดแล้ว พวกที่อยู่จน ม.ศ. 5 ก็จะเป็น เด็กที่ไม่ค่อยมีวีรกรรมอะไรเท่าไร มาสเตอร์ก็ไม่ค่อยมี

แล้วเมื่อก่อน มาสเตอร์สอนวิชาอะไร

เดิมทีที่มาสเตอร์เข้ามาสอน มาสเตอร์สอนชั้นประถม ที่เซนต์หลุยส์ ก็จะสอนทุก ๆ วิชา มาสเตอร์อยู่ ประมาณ 1-2 ปี ก็ย้ายมาสอนที่นี่ มาสอน ชั้น ป.5 ป.6 ป.7 หลังจากนั้น ไม่นาน เขาก็ย้าย ป.5 ป.6 ป.7 ไปอยู่ที่เซนต์หลุยส์ ก็เลยย้ายกลับไปอีก พอไป สอนอีก 2-3 ปี ทาง อัสสัม. ใหญ่ ขาดอยู่สองเรื่องคือ ครูสอน วิชา Algebra แล้วก็ที่ต้องการมาก คือต้องการให้มาฟื้นฟูการเชียร์ เพราะว่าช่วงหลัง ๆ นั้น จตุรมิตรนี่หาย ๆ ไปหลายปี ตอนที่มี เหตุการณ์เดือนตุลา. ตอนนั้นก็ไม่มีฝ่ายเชียร์ มาสเตอร์ก็เลยกลับมาช่วย ก็ต้องเริ่มกันใหม่ ตั้งแต่ เรื่อง ซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ การเขียนโค้ด

 

แล้วทำไมมาสเตอร์เลิกสอน แล้วมาอยู่ฝ่ายวิชาการ

มาสเตอร์ไม่ได้คิดจะเลิกเลย ในชีวิตการเป็นครูของมาสเตอร์ยังต้องการที่จะสอน แต่เขาต้องการให้มาสเตอร์มาอยู่ด้านการบริหารของโรงเรียน โรงเรียนได้ส่งมาสเตอร์ไปเรียนด้านการวัดผล ตอนแรก ๆ ก็ทำควบคู่กันไป แต่พอมาหลัง ๆ ก็เลยต้องย้ายมาอยู่ด้านวัดผลเต็มตัว ตอนนี้ก็มาดูแลเรื่องการวิจัยและพัฒนา ก็เลยไม่ได้สอน

 

ถ้าให้มาสเตอร์เปรียบเทียบนักเรียนในสมัยนี้ กับสมัยที่มาสเตอร์เรียนอยู่ แตกต่างกันอย่างไรครับ

ถ้าให้เปรียบตามสถานการณ์ มันก็ต่างกันอยู่ เพราะว่า สภาวะของเมื่อก่อนกับสมัยนี้ มันต่างกัน คือเมื่อก่อนไม่ได้มี สิ่งเร้ามากถึงในขณะนี้ เด็กสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ซึ่งดูแล้วในเรื่องนิสัยใจคอ เขาก็เหมือน ๆ เดิม แต่เรื่องการปรับตัว สมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะ เพราะถ้าไม่ปรับก็จะอยู่ในสังคมไม่ค่อยได้

แต่ครูนี่เปลี่ยนไปเยอะ เดิมเมื่อก่อนอัสสัม. ไม่มีครูผู้หญิงเลย มามีครูผู้หญิงคนแรกเลยก็คือ ครูทวี สุวรรณทัต ตอนนั้นก็คือ ม.ศ.3 เดิมทีครูของอัสสัม. ก็คือ นักเรียนที่จบมาจากอัสสัม.เพราะเนื่องจาก.... ถ้าพูดตรง ๆ เลยก็คือไม่มีครูสอน พอระยะหลัง กระทรวงศึกษาบังคับให้ คนที่จะมาเป็นครูได้ต้องมีวุฒิทางครู แต่ส่วนใหญ่ครูอัสสัม. ไม่ค่อยจะเรียนวิชาครู คือจะมาสอนในสาขาที่ตนจบมา

 

คือเหตุผลที่ทำให้เมื่อก่อนอัสสัม. มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษามากใช่ไหมครับ

มีชื่อเสียงก็เพราะว่าเราใช้เด็กของเราที่จบอัสสัม.ไป มาเป็นครูดังนั้นก็จะยัดเยียดให้เราทุก ๆ อย่างที่ครูรู้ แม้ว่าเราดื้อขนาดไหนก็ต้องให้เราเอาให้ได้และคือจะแปลกอยู่อย่างคือสอนได้ทุก ๆ วิชา ยกเว้นภาษาไทย

ครูคนนึงก็จะนั่งอยู่ตลอดทั้งวันคิดดูมันน่าเบื่อขนาดไหน(หัวเราะ) แต่ครูดุแทบทุกคนเลยถ้าเราไม่ตั้งใจก็ต้องทำโทษให้อยู่เย็นประจำ

การทำโทษที่ว่าคือการยืนเสา ใช่ไหมครับ

ใช่ คือทำโทษจนได้ที่ครูต้องการ แต่สิ่งนั้นถ้าเรามองในแง่ของเด็ก เราก็เกลียด เพราะเราเจ็บแต่พอเราเรียนสูงขึ้นมา เรากลับไปมอง เราก็คิดว่าถ้าครูไม่ทำอย่างนั้น เราก็ไม่ทำเหมือนกัน แล้ววิชาที่เรียนมันยาก เพราะว่าเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย กว่าจะปรับตัวได้ก็นานมาก บางคนเรียนไม่ได้ก็ต้องออกไปก็มีเหมือนกันเพราะฉะนั้นคนที่อยู่ได้ถึง ม.ศ. 5 ได้ก็ต้อง ผ่านไม้มากโชกโชนเหมือนกัน

แต่ถ้าถามว่าคนที่ไม่เคยโดนตีเลย มีไหม? ก็มีเหมือนกัน แต่ว่าน้อยมาก ต้องมีบ้างบางครั้งที่โดนก็เพราะว่าความที่รักเพื่อน เช่น ครูถามว่าใครทำผิด ไม่มีใครรับ ก็โดนกันหมดเลย ก็เพราะว่าความที่รักเพื่อนนั่นเอง

 

มาสเตอร์ช่วยอธิบายการทำโทษที่เรียกว่าการยืนเสาให้ฟังหน่อยครับ

มันก็คือ การทำโทษธรรมดา ไปยืนพิงเสา, ต้นไม้ เช่น ไปท่องศัพท์ ต้องท่องให้ได้ แล้วก็ไปเอาการกับเพื่อน เพื่อนก็จะไปรายงานครู ถ้าเราไม่ได้ ก็เลยต้องไปยืนเสายืนท่องถึง 5 โมง ท่องจนได้ ถึงจะได้กลับบ้าน

 

ถ้าให้พูดถึงบรรยากาศของโรงเรียนตอนที่ มาสเตอร์เรียนกับสมัยก่อนนี่ต่างกันยังไงครับ

ตึกมันก็แออัดอย่างนี้แหละ แต่ว่าเราสบาย เพราะว่าตอนเที่ยงเราได้ออกไปวิ่งเล่นกันข้างนอก สมัยก่อนเราไม่มีโรงอาหาร แต่ต่อมากระทรวง บังคับให้ต้องมีโรงอาหาร สมัยมาสเตอร์เลย ออกไปซื้ออะไรทานได้ ตาม ชาร์เตอร์แบงค์ วิ่งไปทั่ว เหมือนมันได้พักผ่อนไปในตัว

แล้วอย่างนี้ไม่มีการหนีเรียนเหรอครับ

มันหนียากนะ อย่างที่บอก ครูคนนึง สอนประจำห้อง สอนทุกวิชา ก็เลยจำได้เลย ว่าใครนั่งอยู่ตรงไหน ตรงไหนมีใครบ้าง ครูสมัยก่อนจะใกล้ชิดนักเรียนมาก อยู่ถึงเย็นเลยก็มี ยังเล่นกีฬากับเรา ทำให้ความผูกพันระหว่างครูกับเรามีมาก เวลาสอนก็เอาจริง แต่เวลาเล่นก็เล่นกันอุตลุดเลย อย่างเมื่อก่อน มันไม่มีกีฬาสี แต่จะเป็นกีฬาห้อง ครูก็จะมาติว เพื่อจะเอาชนะอีกห้องให้ได้ ไม่เหมือนครูในสมัยนี้ แต่เดี๋ยวนี้กีฬาสี มันก็ดูแยก ๆ ไป

แล้วรุ่นมาสเตอร์ได้ทันเห็นบราเดอร์ฮีแลร์ไหมครับ

ทัน คือปกติเวลาท่านว่าง ๆ เนี่ย ก็จะมาเดิน ไม่ว่ากลางวันหรือเย็น คือพวกบราเดอร์จะชอบเดิน เดินมาจากตรงหอนาฬิกา ตรงที่เป็นห้องพักครู ม.1 เดิม เดินลงมาตามลาน เวลาแกเจอเศษกระดาษที่ตกอยู่ แกก็จะเอาไม้เท้ามาสะกิดนักเรียนที่อยู่ใกล้แถวนั้นที่สุด พวกเราจะเรียกแกว่า "เทศบาล" เทศบาล มาแล้ว!!! แต่ถ้าใครผ่านไปหน้าห้องแก แกจะเรียกเข้ามา สิ่งแรกที่แกจะถามเลยก็คือ "ชื่ออะไร นามสกุลอะไร " แล้วก็จะถามว่า "ชื่อเธอแปลว่าอะไร" ถ้าเกิดแปลไม่ได้ แกก็จะมี พจนานุกรมไทย ให้เปิด แล้วพูดให้ฟังว่าแปลว่าอะไร แล้วถ้านามสกุลใครคนไหนที่ แกคุ้นมาก ๆ เช่น เป็นศิษย์เก่า แกเป็นคนที่จำอะไรได้ แม่นมาก ๆ แกจ ะบอกว่า พ่อแกชื่ออะไร ปู่แกชื่ออะไร ทำวีรกรรมอะไรไว้บ้าง

 

 

สัมภาษณ์มาสเตอร์ วิธาน นิยมวัน ตอนที่ 2

ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 ให้เลื่อนไปดูด้านบน หรือคลิ๊กที่นี่..

แล้ว น.ร. ในสมัยก่อน มีความรู้สึกยังไงกับ บราเดอร์ ฮีแลร์ ครับ

น.ร. ก็มีความเคารพนับถือ ส่วนใหญ่ น.ร. ก็เป็นลูกของศิษย์เก่า พ่อก็จะเล่าให้ฟังว่า บราเดอร์เป็นไง ครูที่สอนเป็นยังไง นร.ก็จะมีความเคารพครูมาก อย่างผู้ปกครองมาส่งลูกสาย ก็ถูกว่าได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น น.ร. จะเกิดความรักไปด้วย และ นร.อัสสัม ฯ ก็ภูมิใจด้วยที่ท่านเป็นคนแต่งหนังสือเรียนภาษาไทยให้คนภายนอกได้ชื่นชม โรงเรียนก็พลอยมีชื่อเสียงไปด้วย

แล้วมีคำพูดอะไร ที่ บราเดอร์ ฮีแลร์ พูดหรือสอนนักเรียน บ่อย ๆ บ้างครับ

จริง ๆ ตอนเป็น น.ร. ก็ไม่ได้เจอท่านมาก ก็เลยไม่ได้มีโอกาสฟังอะไรได้มาก แต่ก็คือท่านชอบถามว่า ชื่ออะไร พ่อชื่ออะไร ไม่ได้สอนอะไรมาก คนที่สอน ส่วนใหญ่ คือ ม.บรรณา ชโนดม มากกว่า คือครูใหญ่ ในสมัยนั้น เท่าที่เจอมา คือครู อัสสัม ฯ เพียงคนเดียวที่ไม่มีสมญานาม ทุกคนมีหมด แต่ก่อน แกเป็นคนค้นคว้าเรื่องพิมพ์ดีด ที่เราใช้กันจนทุกวันนี้

แกเป็นคนที่มี จิตวิทยาสูง ปัญหาของ น.ร. ตั้งแต่เมื่อก่อนจนถึงสมัยนี้ก็คือเรื่อง ผม คือ น.ร. อยากไว้ผมยาว ท่านก็มีวิธีแก้ เพราะว่าแต่ก่อนก็ เคยมีถึงขนาดจะประท้วง

ตอนนั้นแกก็ให้ น.ร. ชึ้นหอประชุม เราก็แปลกใจว่า เอ.... จะให้ไว้ผมยาว พอขึ้นมา ท่านก็เอาวิกขึ้นมาใส่ แล้วถามน.ร. ว่า ดีมั้ย น.ร.ก็บอกว่า ดีครับ มาสเตอร์ก็บอกว่า ถ้าอยากไว้ผมยาวก็ใส่วิกสิ มาโรงเรียนก็เอาออก พวกเราก็ฮา กัน

เรื่องผมนี่มีปัญหามานานแล้วใช่มั้ยครับ

โอ้ นานมาก ตั้งแต่ รุ่น ม. แล้ว ตอนนั้นก็จะมี บราเดอร์หลุยส์ ชาแนล และ ม. บรรณา ชโนดม ถือ กรรไกร มาตัดพวกผิดระเบียบ

เมื่อก่อนผมเคยดู หนังสือเก่า ๆ ก็เห็นว่า น.ร. อัสสัม ฯ ก็ไว้ รองทรงนี่ครับ

ใช่ รองทรง แต่ต้องหวีให้เรียบร้อย ไม่ใช่ว่าไว้จอนเหมือนเอลวิส อย่างนั้นก็ไม่ได้ อย่างจะมาสะบัดเหมือนเอลวิสนี่ก็ไม่ได้ ทรงนักเรียนสมัยก่อนก็จะยาวกว่าเดี๋ยวนี้ แต่ไม่ยาวจนน่าเกลียด

ตอนช่วงที่มีสงครามโลก อัสสัมชัญเสียหายอะไรบ้างหรือเปล่าครับ

จริง ๆ แล้วมาสเตอร์ก็เกิดไม่ทัน เพราะตอนนั้นมันปี 2488 แต่ว่าเท่าที่รู้คือ เสียหายไม่มาก แต่ต้องรื้อไม้บางส่วน ไปสร้าง โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาเหมือนกัน แต่เค้าใช้ สนามวิลล่ามงฟอร์ต เป็นที่ส่องไฟดูเครื่องบิน แล้วใช้โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นเหมือน โรงพยาบาลไว้รักษาคนป่วย

แต่ก่อน มันก็มีประวัติเก็บไว้เหมือนกัน ที่คณะเซนต์คาเบรียล แต่ไม่รู้ตอนนี้โดนใครเผาทิ้งไปแล้ว

แล้วหลังจากที่ตึกสุวรรณสมโภชถูกทุบทิ้งไป มาสเตอร์มีความรู้สึกอย่างไรบ้างครับ

ถัาพูดถึง ตึกสุวรรณ ฯ แล้ว จะรู้สึกเสียดายน้อยกว่า ถ้าเทียบกับตึกเก่า คือตึกสุวรรณ ฯ เราใช้แค่ประชุม แล้วก็ดูภาพยนตร์ ตอนเย็นวันพุธ เท่านั้น เพราะเมื่อก่อนเราหยุดกัน วันพฤหัสกับวันอาทิตย์ วันพุธตอนกลางคืนก็มีหนังฉาย จะให้คนที่อยู่ รอบ ๆ ร.ร. มาดูได้ หรือถ้า นักเรียนเราอยากมาดู ก็มาได้ มีฉายหนัง cinemascope บราเดอร์เป็นคนฉายเอง ก็ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ แล้วก็ สอบอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้ประทับใจเท่าตึกเก่า เพราะเป็นตึกที่ใช้เรียน เริ่มก็เรียนที่นี่ ตอนจบ ก็ จบจากตึกนี้ เราอยู่มาตั้งแต่เล็กก็เลยเสียดายมากกว่า แต่ถ้าไม่รื้อทิ้ง จะทำให้การศึกษาเราแย่ลง เพราะว่าต่างประเทศ รร.ที่อยู่ ในเมือง ก็จะสร้างเต็มพื้นที่ เวลามีกีฬาใหญ่ ๆ อะไรต่าง ๆ ก็จะขึ้นรถไปจัดที่อื่น ๆ ซึ่ง ร.ร. เราก็คงจะเป็นอย่างนั้น คือ สร้างตึกสูง ๆ เด็กก็จะมีพื้นที่เล่นมากขึ้น

แล้วตึก อัสสัมชัญ 100ปี จะถูกทุบทิ้งมั้ยครับ

ตามผังแล้วก็จะต้องถูกทุบไป แล้วตึกใหม่จะมีส่วนยื่นออกมา รู้สึกว่าเป็นส่วนของโรงอาหาร แล้วอาจจะใช้ตึกกอลมเบต์เป็นห้องสมุดแทน

แล้วตึกกอลมเบต์จะมีการเปลี่ยนแปลงไหมครับ เช่นเรื่องโครงสร้าง

ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะทุบทะลุถึงกันหรือไม่ ถ้าจะทำเป็นห้องสมุด เพราะมันเป็นตึกเก่าไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า แต่ว่าตึกใหม่ที่สร้างมาก็จะบังตึกกอลมเบต์มิดเลย

แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ ทัศนียภาพ ของ ร.ร. จะเป็นอย่างไร ครับ

ก็ยังบอกไม่ได้แน่ แต่ว่าถึงตอนที่ทุบตึก 100 ปีทิ้งไป ความโล่งมันก็จะเกิด แต่มันอาจจะถูกบังด้วยส่วนที่ยื่นออกมา แต่มันก็น่าจะโล่งมากขึ้นเพื่อเป็นที่วิ่งเล่นของนักเรียน

แล้วตึกใหม่จะสร้างเสร็จประมาณ ปีไหนครับ

ก็เห็นว่าจะเป็นราว ๆ อีก 2-3 ปี

แล้วรูปแม่พระที่อยู่บนลานเขียวจะนำลงมายังไงครับ หรือว่าจะเอาลงมายังไงครับ กลัวจะเหมือนเรื่องรูปปั้นที่ผ่านมา

เรื่องนี้ยังไม่เห็นมีการพูดถึงในที่ประชุมเลย เพราะว่าเพิ่งเสร็จเรื่องทุบตึก หอประชุม

โรงเรียนเราก็ก่อตั้งมาประมาณ 115 ปีแล้ว ก็น่าจะมีของเก่า ๆ เยอะ ไม่ทราบว่า โรงเรียนเก็บไว้ที่ไหนครับ

จริง ๆ ก็เก็บมาเรื่อย ๆ แต่ ร.ร.เรามีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือ เปลี่ยนอธิการครั้งนึงก็ จะมีการย้ายรื้อของไป ก็จะทำให้ของหายไปบ้าง เท่าที่มีอยู่ก็จะมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์

แต่บางอย่างก็จะมี ทางหมวดวิทยาศาสตร์ได้เก็บไว้ เช่นเครื่องมือ ที่เหลืออยู่ไม่กี่ชิ้นของโลกหรือว่าหาไม่ได้แล้วในประเทศ แต่ก็เห็นว่าตึกใหม่ก็จะมีพิพิธภัณฑ์ให้เข้าไปชมได้ด้วย

ผู้อ่าน คน